เพื่อนเก่ามาเยือน
ข่าวคราวของไข้หวัดนก เพื่อนเก่าที่ไม่อยากเจอ กำลังเป็นกระแสเข้าใกล้บ้านเรามาเรื่อยๆ แล้ว ขอเอาข้อมูลมาบอกเล่าให้เพื่อนๆ รู้ไว้ใช้ดูแลตัวเองนะคะ
โรคไข้หวัดนก (Bird Flu) หรือโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian Influenza) ที่แพร่ระบาด มักเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง ได้แก่ สายพันธุ์ H5 และ H7 ซึ่งสามารถแพร่ระบาดกันได้ในหมู่สัตว์ปีกทุกชนิดทั่วโลก
ในระยะหลัง เชื้อเหล่านี้เกิดการกลายพันธุ์ จนเกิดเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และสามารถติดต่อมาสู่สัตว์อื่นและคนได้ โดยพบครั้งแรก ในปี พ.ศ.2540 ที่ฮ่องกง จากเชื้อไวรัส H5N1 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ก่อนจะแพร่ระบาดไปทั่วเอเชีย ทั้งจีน ไทย เวียดนาม ฯลฯ คร่าชีวิตผู้คนไปหลายราย ขณะที่ในแถบยุโรปก็พบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H9N2 และ H7N7 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน
สาเหตุที่เชื้อไข้หวัดนกติดต่อมาสู่คนได้นั้น พบว่าผู้ติดเชื้อมีประวัติการสัมผัส เกี่ยวข้องกับสัตว์ปีก หรือสัตว์อื่น เช่นสุกรที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่ระบาดของโรค
คนที่ติดเชื้อ จะมีการไข้สูงมากกว่า 38 องศา หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ ไอแห้ง ตาแดง มักพบอาการปวดบวม ส่วนมากมีระยะเวลาป่วย 5-13 วัน และโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 70-80 ส่วนมากจะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในวันที่ 9-10 หลังมีอาการป่วย ขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีอาการรุนแรง หายใจลำบาก หอบ และอาจมีอาการระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตได้
การรักษา โรคไข้หวัดนก
สามารถรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการป่วย และทานติดต่อกันนาน 5 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ และการใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง จะให้ผลการรักษาที่ดี
การป้องกันการติดเชื้อ
- บริโภคอาหารที่ปรุงสุก เพื่อให้ความร้อนได้ทำลายเชื้อเหล่านั้น
- รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- ทำความสะอาดบ้านด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ น้ำยาฟอกขาวที่เจือจาง หรือผงซักฟอกก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้
- หมั่นล้างมือเป็นประจำเพื่อฆ่าเชื้อโรค และป้องกันการติดเชื้อ
- ผู้ที่มีไข้สูง และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- หากต้องสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อต้องสวมหน้ากาก เสื้อคลุมและถุงมือ เพราะเชื้อไข้หวัดสามารถติดต่อทางเสมหะ การจาม หรือไอได้
- ติดตามรับฟังข่าวการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าในพื้นที่นั้น
- ช่วยกันเฝ้าระวังการระบาดในสัตว์ปีกที่เลี้ยงอยู่ตามบ้าน
- ดูแลเด็กๆ ไม่ให้ไปสัมผัสสัตว์ป่วย หรือบริเวณที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
- หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขตทุกเขต หากเป็นในต่างจังหวัดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัด เทศบาล อบต.
- ไม่ควรสัมผัสสัตว์ป่วยหรือตายด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือ หรือถุงพลาสติกหนาๆ แทน
- เพื่อฝังสัตว์ที่ตายต้องขุดหลุมให้ลึกอย่างน้อย 1 เมตร หรือนำไปเผา จากนั้นให้รีบล้างมือด้วยสบู่โดยเร็วที่สุด
ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่า ไวรัสนี้จะติดต่อจากคนสู่คนได้ และยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อจากรับประทานเนื้อสัตว์ปีกหรือกินไข่ ดังนั้น เราก็วางใจได้เปลาะหนึ่งว่า หากเราไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง หรือเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และปฏิบัติตามข้อแนะนำข้างต้น โรคไข้หวัดนกนี้ก็คงไม่สามารถทำอันตรายเราได้ค่ะ